พัฒนาการเด็ก แรกเกิดถึง 1 ขวบ

baby development

พัฒนาการเด็ก แรกเกิดถึง 1 ขวบ

พัฒนาการเด็ก ตั้งแต่ 0-12 เดือน หรือ แรกเกิดถึง 1 ขวบ ที่พ่อแม่สามารถเรียนรู้และเข้าใจ ส่งเสริมพัฒนาการ กิจกรรมต่างๆ ที่สามารถทำได้ง่าย และเคล็ดลับดีๆ เพราะในช่วงขวบปีแรกทักษะการเคลื่อนไหว ภาษา ทักษะทางสังคมของลูกนั้นเป็นรากฐานของชีวิตของเจ้าตัวเล็ก

Table of Contents

new born baby

ส่วนใหญ่กุมารแพทย์จะแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากเป็นแหล่งสารอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารก หากไม่สามารถให้นมแม่ได้ นมผสมเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ ให้นมลูกตามความต้องการซึ่งโดยทั่วไปคือทุกๆ 2-3 ชั่วโมง

เด็กในวัยนี้การนอนหลับจะกินเวลามากที่สุด คือประมาณ 16-18 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเรื่องปกติที่จะมีรอบการนอนที่สั้น ประมาณ 2-4 ชั่วโมง และตื่นบ่อยเพื่อกินนม ไม่ควรสร้างตารางนอนหลับในช่วงนี้ แต่ควรสร้างสภาพแวดล้อมการนอนที่ปลอดภัย เช่น วางเด็กนอนหงายบนที่นอนแข็งในเตียงนอนทารก ไม่มีผ้าปูที่นอนหรือหมอนหนุน

พัฒนาการเด็ก วัย 0-3 เดือน

ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะพูดคุยและร้องเพลงให้ลูกฟังได้แล้ว โดยพูดด้วยน้ำเสียงสบายๆ ร้องเพลงกล่อมลูก และบรรยายสิ่งที่คุณทำในแต่ละวัน ช่วยในการพัฒนาทักษะทางภาษาและสร้างสายใยแห่งความผูกพัน เป็นช่วงที่เด็กๆ จะสะสมคลังศัพท์เพื่อเอาไว้ใช้ในอนาคต การสัมผัสทางกายอย่างการ อุ้มลูกไว้ใกล้ชิด แนบอกเข้าด้วยกัน จะทำให้รู้สึกอบอุ่น สบาย และช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายของลูก เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ของลูก

ในแง่ของพัฒนาการด้านร่างกาย การจับลูกนอนคว่ำเป็นระยะเวลาสั้นๆ ภายใต้การดูแล จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อคอและหลัง ให้ลูกคอแข็งเร็วขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาทักษะในอนาคต เช่น การพลิกตะแคงและการคลาน เริ่มต้นด้วยช่วงเวลาสั้นๆ 2-3 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาขึ้นเรื่อยๆ มีปฏิสัมพันธ์กับลูกด้วยของเล่นง่าย ๆ สิ่งแขวนเหนือเตียง และรูปภาพขาว-ดำ ที่มีคอนทราสต์สูง เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็กและสร้างปฏิสัมพันธ์

สร้างกิจวัตรประจำวัน

แม้ด้วยพัฒนาการของเด็กในวัยนี้จะยังไม่มีตารางเวลาที่แน่นอน แต่ควรพยายามสร้างกิจวัตร สำหรับการกินนม การนอนหลับ และเวลาเล่น เพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและมีแบบแผน    

ตอบสนองต่อเสียงร้องของลูก

การร้องเป็นวิธีเดียวที่ลูกจะสื่อสารความต้องการของตัวเอง นี่เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้ ที่จะแยกความแตกต่างของเสียงร้องเพื่อเข้าใจความต้องการของลูก เช่น การร้องแบบไหนคือลูกหิว ไม่สบาย เหงา ต้องการในพ่อแม่มาเล่นด้วย

อย่าลืมที่จะดูแลตัวเอง

ในฐานะพ่อแม่มือใหม่ คุณอาจรู้สึกเหนื่อยล้าและเครียด ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนและสุขภาพของตัวเองด้วย อย่าละเว้นที่จะขอความช่วยเหลือจากคู่ชีวิต ครอบครัว และเพื่อนฝูง 

เช็คลิสต์พัฒนาการในวัย 0-3 เดือน

  • ด้านร่างกาย
    • ควบคุมศีรษะได้ดีขึ้น
    • ยกคางขึ้นเมื่อนอนคว่ำ
    • เริ่มใช้มือตีของเล่น
    • ชอบมองใบหน้าคน
  • ด้านสติปัญญา
    • เริ่มเรียนรู้การมองเห็นและได้ยิน
    • สนใจสิ่งเร้ารอบตัว
    • เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้
    • ตอบสนองต่อเสียง
  • ด้านอารมณ์
    • ร้องไห้เพื่อสื่อสารความต้องการ
    • เริ่มยิ้มและแสดงท่าทางดีใจ
    • ชอบอยู่ใกล้ชิดผู้ใหญ่

กิจกรรมเสริมพัฒนาการวัย 0-3 เดือน

  • พูดคุยและเล่นกับลูกบ่อยๆ แม้เขาจะยังตอบคุณไม่ได้ หรือแม้แต่ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ร้องเพลงกล่อมเด็ก อ่านหรือเล่านิทานให้ฟัง การพูดคุยและเล่นกับลูกน้อยจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร 
  • อุ้มและกอดลูกบ่อยๆ การสัมผัสทางกายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพัฒนาการของทารก การอุ้มและกอดลูกน้อย จะช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น อย่าเพิ่งกลัวว่าลูกจะติดมือ ความรู้สึกปลอดภัยในอ้อมแขนของคุณพ่อคุณแม่สำคัญกว่า
  • เล่นของเล่นที่มีเสียงและสีสันสดใส ของเล่นที่มีเสียงและสีสันสดใสจะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกน้อยและช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการมองเห็นและการได้ยิน
  • พาออกไปเดินเล่นข้างนอก การพาลูกน้อยออกไปเดินเล่นข้างนอก จะช่วยให้ลูกน้อยได้สัมผัสกับธรรมชาติและเรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก ทั้งอากาศที่เปลี่ยนไป สัมผัสจากดิน หญ้า ทราย และพื้นที่แตกต่างกัน การเคลื่อนไหวของนกที่บินผ่านไปมา สองสามตัวที่หยุดคุยกัน การเคลื่อนไหวของต้นไม้ใบหญ้าที่พริ้วไหวตามแรงลม สิ่งเหล่านี้ตื่นตาตื่นใจสำหรับเด็กๆ

ของเล่นเสริมพัฒนาการ สำหรับเด็กวัย 0-3 เดือน

vtkids shopee

แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ให้นมแม่ขั้นต่ำจนถึง 6 เดือน แต่ในเด็กบางคนที่นมแม่น้อย คุณแม่ไม่ได้ให้นมแม่ล้วน อาจจะมีการลองลิ้มรสอาหารเสริมได้บ้างแล้ว อย่างข้าวบดผสมนมแม่หรือนมผง และแนะนำให้ทดลองอาหารใหม่ทีละชนิด รอสังเกตอาการนาน 2-3 วันเพื่อดูอาการแพ้ ซึ่งในการเริ่มอาหารเสริมนั้น เป็นการแนะนำให้ลูกรู้จักรสชาติใหม่ รสสัมผัสใหม่เท่านั้น นมแม่หรือนมผสมยังเป็นมื้อหลักของลูกอยู่ ลูกอาจจะชอบหรือไม่ชอบบางอย่างได้ ที่สำคัญคือไม่ควรบังคับ

เมื่ออายุ 4-6 เดือน เด็กบางคนจะเริ่มนอนหลับต่อเนื่องช่วงกลางคืนนานขึ้น ตั้งแต่ 6-8 ชั่วโมง การมีกิจวัตรประจำวันก่อนนอน เป็นการบอกลูกให้รู้ว่า สิ่งที่เขาจะต้องทำต่อไปคืออะไร ทำให้ลูกรู้ว่านี่เป็นช่วงเวลาผ่อนคลายก่อนเข้านอน ทำให้เด็กนอนได้ง่ายขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดี ที่จะให้ลูกได้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์และตอบสนองกับคนอื่นๆ มากขึ้น ยิ้มแย้มและพูดคุยกับเขาบ่อยๆ แนะนำให้รู้จักคนใหม่ๆ และพาลูกไปเล่น มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่น

พัฒนาการเด็ก ในวัย 4-6 เดือน

คันเหงือก

ในวัยประมาณ 4-6 เดือน ลูกอาจจะเริ่มคันเหงือกเนื่องจากฟันกำลังขึ้น สังเกตอาการเช่น น้ำลายไหล เคี้ยวกัดสิ่งของ และอารมณ์ร้อนรน ให้ของเล่นยางกัดแช่เย็นเพื่อให้เขามีอารมณ์ที่ดีขึ้น 

อ้อแอ้

ลูกจะเริ่มอ้อแอ้และส่งเสียงมากขึ้น ตอบสนองด้วยเสียงและคำง่ายๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะการสื่อสาร คำยอดฮิตที่คุณพ่อคุณแม่ทุกชนชาติอยากให้ลูกพูดได้คำแรกคือ พ่อหรือแม่ แต่เด็กบางคนก็จะเรียกเป็น ปาป๊า หรือ มาม้า ได้ง่ายกว่า

เล่นซน

เด็กในวัยนี้  อาจเริ่มพลิกตัวจากคว่ำเป็นหงาย และกลับไปกลับมา ให้ลูกได้อยู่ในพื้นที่ที่กว้างขวาง เพื่อสำรวจการเคลื่อนไหว บางคนอาจจะเริ่มคืบคลานแล้ว การมีพื้นที่ที่เหมาะสม ให้เขาทดลองสิ่งต่างๆ จะทำให้ลูกกล้าแสดงออก และมีพัฒนาการด้านร่างกายที่สมวัย

เช็คลิสต์พัฒนาการในวัย 4-6 เดือน

  • ด้านร่างกาย
    • พลิกตะแคงจากหน้าไปหลัง และหลังไปหน้า
    • นั่งพิงโดยไม่ต้องพยุง
    • คว้าของเล่นได้
    • เริ่มกลิ้งตัว
  • ด้านสติปัญญา
    • รู้จักคนคุ้นเคย
    • จำเสียงและกลิ่นของแม่
    • เล่นกับของเล่นอย่างมีจุดมุ่งหมาย
    • เริ่มส่งเสียง babbling
  • ด้านอารมณ์
    • หัวเราะและแสดงท่าทางร่าเริง
    • รู้สึกวิตกกังวลเมื่ออยู่คนเดียว
    • เริ่มแสดงอารมณ์โกรธ

กิจกรรมเสริมพัฒนาการวัย 4-6 เดือน

  • หลายสัมผัส  ของเล่นที่มีเนื้อสัมผัสแตกต่างกันจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการสัมผัส
  • เพลย์ยิม ที่มีกิจกรรมจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะ
  • ฝึกพลิกตะแคงและหงาย การฝึกพลิกตะแคงและหงายจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะด้านร่างกาย
  • เล่นจ๊ะเอ๋ หรือ peek-a-boo จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
  • ให้จับของเล่นที่มีเสียง ของเล่นที่มีเสียงจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการได้ยิน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ สำหรับเด็กวัย 4-6 เดือน

vtkids shopee

อาหารหลักของเด็กวัยนี้ยังเป็นนม แต่คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มลองป้อนอาหารหลากหลายประเภท ทั้งอาหารปั่นบดและทำจากส่วนผสมเดียว เมื่อลูกรับประทานได้ดี จึงค่อยๆ ทดลองเนื้อสัมผัสที่หนาขึ้นและอาหารที่สามารถหยิบกินได้ง่าย ปล่อยให้ลูกกินด้วยตัวเองภายใต้การดูแล ห้ามปล่อยลูกกินเพียงลำพัง เพื่อป้องกันอาหารติดคอหรือเรื่องไม่คาดคิด คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มให้อาหารเสริมทุกครั้งก่อนมื้อนมก็ได้เช่นกัน

ในวัยนี้ลูกอาจจะมีฟันขึ้นบ้างแล้ว หลังกินนมเสร็จแล้ว ให้ผ้าก๊อตชุบน้ำสะอาดเช็ดฟันทุกครั้ง ระมัดระวังไม่ให้ฟันพุ

พัฒนาการเด็ก ในวัย 7-9 เดือน

ในวัยนี้เป็นวัยที่สามารถพลิกตัว คลาน เอื้อมจับ และหยิบจับของได้แล้ว จัดพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้สำรวจ หลีกเลี่ยงสิ่งของแตกหักง่ายภายในบริเวณห้อง การขว้างปาสิ่งของอาจจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ดังนั้นพื้นที่ที่ลูกเล่น ไม่ควรมีสิ่งของราคาสูงที่พังได้ แต่ควรให้เขาได้สำรวจเต็มที่ 

เรียนรู้ในสิ่งที่ต่างๆ

เด็กจะเริ่มเข้าใจว่าสิ่งของยังคงมีอยู่แม้จะมองไม่เห็น คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นเกมซ่อนหาของเล่น เพื่อส่งเสริมพัฒนาการนี้ เช่น การเอาของเล่นมาซ่อนไว้ในกล่องแล้วให้ลูกหา หรือเล่นซ่อนแอบก็ได้เช่นกัน 

การสื่อสาร

เสียงอ้อแอ้ของลูกจะมีความซับซ้อนขึ้น และอาจเริ่มใช้เสียงหรือท่าทางง่ายๆ เช่น “แม่” หรือ “พ่อ” ตอบสนองความพยายามในการสื่อสาร และบรรยายออกมาเป็นคำพูดถึงกิจกรรมที่คุณทำ เพื่อช่วยในการพัฒนาภาษาของลูก คุณพ่อคุณแม่บางครอบครัวที่สอนภาษามือให้ลูก อย่าลืมพูดออกเสียงด้วยทุกครั้ง เพื่อให้ลูกจดจำคำศัพท์ได้    

วิตกกังวลเมื่อแยกจาก

ลูกอาจมีอาการวิตก งอแง และร้องไห้ เมื่อไม่เห็นคุณพ่อคุณแม่ หรือเมื่อคุณพ่อคุณแม่เดินออกจากห้อง ให้ใช้วิธีปลอบโยนลูก แวะกลับเข้ามาเป็นระยะ เพื่อให้ลูกรู้ว่าแม้ไม่เห็นพ่อแม่อยู่ในสาย แต่พ่อแม่ก็ยังอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้ยังเป็นวัยที่ไม่ควรปล่อยให้คลาดสายตา ลูกอาจเข้าใจมากขึ้นในเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ไปทำงานในตอนกลางวันและกลับมาในตอนเย็น

เวลาเล่นสร้างสายสัมพันธ์

จัดหาของเล่นหลากหลายที่กระตุ้นพัฒนาการ เช่น ถ้วยซ้อน บล็อคไม้ และนิทาน เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ มีเวลาคุณภาพร่วมกัน ช่วยให้ลูกมีปฏิสัมพันธ์ด้วยกันกับคุณพ่อคุณแม่ การร้องเพลง และอ่านนิทานให้ฟังยังมี

กลัวคนแปลกหน้า 

เด็กอาจระมัดระวังคนแปลกหน้า อย่าบังคับให้มีปฏิสัมพันธ์ เช่น ให้อุ้ม ให้หอมแก้ม ให้กอด แต่ปล่อยให้เขาคุ้นเคยในจังหวะของตัวเอง 

เช็คลิสต์พัฒนาการในวัย 7-9 เดือน

  • ด้านร่างกาย
    • นั่งเองได้โดยไม่ต้องพยุง
    • เริ่มคลาน
    • ดึงตัวเองขึ้นยืน
    • เริ่มหยิบจับอาหารกินเอง
  • ด้านสติปัญญา
    • รู้จักชื่อตัวเอง
    • เข้าใจคำพูดง่ายๆ
    • เล่นจ๊ะเอ๋
    • เล่นของเล่นที่มีปุ่มกด
  • ด้านอารมณ์
    • รู้สึกกลัวคนแปลกหน้า
    • ชอบเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน
    • เริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง

กิจกรรมเสริมพัฒนาการวัย 7-9 เดือน

  • ฝึกนั่ง การฝึกนั่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะการบังคับร่างกายของลูก
  • เล่นของเล่นที่มีปุ่มกด ของเล่นที่มีปุ่มกดจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะการหยิบจับและทักษะการแก้ปัญหาของลูก
  • เล่นบทบาทสมมติ จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของลูก
  • อ่านนิทานที่มีภาพประกอบ จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
  • พาไปเล่นที่สนามเด็กเล่นจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะการบังคับร่างกายและทักษะทางสังคม

ของเล่นเสริมพัฒนาการ สำหรับเด็กวัย 7-9 เดือน

vtkids shopee

วัยที่เริ่มกินอาหารแข็งได้มากขึ้นแล้ว อาหารที่ใช้มือหยิบกินหรือ Finger food จะช่วยให้ลูกสามารถหยิบจับและกินได้ในจังหวะของตัวเอง เริ่มต้นด้วยผักและผลไม้ที่รสไม่หวานมากก่อน ส่วนอาหารหลักก็สามารถเริ่มเป็น 2 มื้อต่อวันได้แล้ว และควรเป็นอาหารที่ไม่ปรุงแต่งรสใดๆ เด็กบางคนอาจชอบกินอาหารแข็งมากกว่า แต่ในเด็กบางคนที่ยังกินอาหารแข็งได้น้อย นมก็อาจจะเป็นมื้อหลักของเด็กในวัยนี้ได้เช่นกัน ใช้หลักค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อนและไม่บังคับ

วัยนี้จะเป็นวัยที่คลานได้คล่องมากขึ้น จะจับยืนและเดินสลับกันไป โดยการพยุงตัวเองลุกขึ้นมา ลูกอาจเริ่มพูดได้เป็นคำหรือวลีสั้นๆ ง่ายๆ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือตอบสนองการพยายามสื่อสารของลูก ช่วยให้ลูกต่อคำให้จบ เพื่อพัฒนาด้านทักษะการสื่อสาร การร้องเพลง พูดคุย และเล่านิทานสามารถช่วยได้ ลูกจะเริ่มเข้าใจความเป็นเหตุผลมากขึ้นแล้ว เช่น ปิดไฟแล้วไฟดับ กดปุ่มบนของเล่นจะมีเสียงออกมา หมุนคันโยกแล้วจะเลี้ยว 

พัฒนาการเด็ก ในวัย 10-12 เดือน

เด็กๆ จะเคลื่อนไหวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคลานเร็วมากขึ้น เกาะตัวยืนหรือแม้แต่ยืนและเดินได้บ้างแล้ว มีการทำงานประสานมือและตาได้ดีมากขึ้น หยิบจับสิ่งของด้วยนิ้วมือและนิ้วชี้ได้ดีมากขึ้น ปรบมือได้ กินอาหารแข็งได้ดีมากขึ้น ดื่มเครื่องดื่มจากแก้วได้ เข้าใจสิ่งต่างๆ มีอยู่แต่มองไม่เห็นตอนนี้ได้ดีขึ้น เช่น ร้องงอแงเวลาที่พ่อหรือแม่ไปทำงานน้อยลง

เจ้าหนูจอมทดลอง

ชอบสำรวจเหตุและผลผ่านการกระทำ เช่น การขว้างปาสิ่งของ หรือทำของตกลงไป สามารถเรียงต่อบล็อก เก็บของเล่นใส่กล่อง พูดได้คำง่ายๆ เช่น หม่าม้า ป่าป๊า หม่ำๆ มีการแสดงออกทางภาษากายได้ดีขึ้น เช่น โบกมือ ชี้ พยักหน้า สวัสดี ส่ายหัว พยักหน้า แสดงอารมณ์ได้มากขึ้น ชอบ ไม่ชอบ เลียนแบบสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่ทำ

พื้นที่ปลอดภัยในการสำรวจ

ภายในพื้นที่หรือห้องเด็ก หรือแม้แต่ในเบาะรองคลาน เพื่อให้ลูกคลาน ปีน และฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่ มีของเล่นที่เหมาะสมกับวัย และไม่เป็นอันตรายจากสารเคมี มุมหรือเหลี่ยมมีคม เป็นสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่ลูกสามารถเลี้ยงดูและเล่นไปกับเขาได้

เช็คลิสต์พัฒนาการในวัย 10-12 เดือน

  • ด้านร่างกาย
    • เดินด้วยการหรือจับสิ่งของ
    • นั่งเก้าอี้ได้
    • ยืนหยัดโดยไม่ต้องพยุง
    • กินอาหารเองด้วยช้อน
  • ด้านสติปัญญา
    • พูดคำง่ายๆ เช่น แม่ พ่อ หรือ มาม๊า ปาป๊า
    • ชี้สิ่งของที่ต้องการ
    • เล่นบทบาทสมมติ
    • เข้าใจคำสั่งง่ายๆ
  • ด้านอารมณ์
    • รู้สึกหึงหวง
    • ชอบช่วยเหลือผู้ใหญ่
    • เริ่มแสดงอารมณ์ขัน

กิจกรรมเสริมพัฒนาการวัย 10-12 เดือน

  • ฝึกยืนและเดิน การฝึกยืนและเดินจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะการควบคุมร่างกายของลูก
  • ของเล่นที่มีล้อ ของเล่นที่มีล้อจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะการควบคุมร่างกายและทักษะการแก้ปัญหา
  • อ่านนิทาน ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
  • ถาดประสาทสัมผัส ใส่ถั่วแห้ง ข้าวสาร หรือกระดาษยับๆ ลงในถาดให้เด็กขุดและสัมผัส เพิ่มถ้วยพลาสติก ช้อน หรือที่ตักเพื่อความสนุกสนานมากขึ้น   
  • ใส่เข้านำออก ของเล่นที่มีช่องสำหรับใส่วัตถุที่มีรูปร่างตรงกับช่องเหมาะสำหรับมือเล็กๆ ของเด็กในการสำรวจ ลูกบอลหรือบล็อคพลาสติกหรือไม้ที่สอดผ่านช่องเฉพาะ เช่น ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยม ทรงสามเหลี่ยม จะกระตุ้นทักษะแก้ปัญหาและการประสานงานระหว่างตาและมือ   
  • จิ๊กซอภาพ 2-4 ชิ้น ให้ลูกเด็กจับและประกอบ เป็นการเรียงร้อยความต่อเนื่อง ลูกจะได้คิดและวิเคราะห์และหาความน่าจะเป็นในภาพนั้นๆ    
  • หนังสือนิทานภาพ ที่เป็นกระดาษแข็ง สำรวจหนังสือภาพกระดาษแข็งสีสันสดใสที่มีเรื่องราวและภาพง่ายๆ ชี้ไปที่วัตถุและออกเสียงชื่อเพื่อช่วยให้เด็กเชื่อมโยงคำกับภาพ หลีกเลี่ยงการให้เด็กจับหนังสือที่เป็นกระดาษอ่อน เนื่องจากอาจฉีกขาดได้ง่าย
  • เล่นกระจก นั่งหน้ากระจกกับลูกน้อยและชี้ไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำหน้าตาประหลาดและกระตุ้นให้เด็กเลียนแบบคุณ นี่เป็นวิธีที่สนุกในการสำรวจการรับรู้ตนเอง   
  • ของเล่นแบบ interactive หรือมีปฏิสัมพันธ์ เช่น ของเล่นที่มีปุ่มหรือคันโยก เพื่อเปิดเสียงหรือไฟ มีความน่าสนใจ และช่วยให้เด็กเข้าใจแนวคิดเรื่องเหตุและผล 

ของเล่นเสริมพัฒนาการ สำหรับเด็กวัย 10-12 เดือน

vtkids shopee

ทำไมการร้องเพลงและการอ่านนิทาน ถึงช่วยพัฒนาการของลูก

คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มอ่านนิทานและร้องเพลงให้ลูกฟังได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือบางครอบครัวอาจเริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ก็ได้เช่นกัน ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย หาพื้นที่ที่เงียบสงบและสบาย ปราศจากสิ่งรบกวน ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและให้ความรู้สึกสงบ ร้องเพลงเบาๆ หรือพูดด้วยน้ำเสียงที่สงบ อาจเริ่มจากเพลงสั้นๆ หรือเรื่องราวสั้นๆ ทำซ้ำบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้และจดจำได้ เมื่อลูกโตขึ้นและอยากมีส่วนร่วม การร้องด้วยกัน สัมผัสรูปภาพหรือช่วยพลิกหน้าหนังสือ ยิ่งทำให้ลูกชอบช่วงเวลาเหล่านี้

ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องร้องเพลงหรืออ่านนิทานให้ลูกฟังบ่อยแค่ไหน แต่ยิ่งบ่อยก็ยิ่งดี จะร้องเพลงในช่วงที่เปลี่ยนผ้าอ้อม ช่วงเวลาอาบน้ำ ก่อนเข้านอน ระหว่างเข้าเต้า ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้!

เมื่อไหร่ถึงควรหยุด ลูกเริ่มไม่สนใจ มองไปทางอื่น หรือแม้กระทั่งการผลอยหลับไป ก็เป็นสัญญาณบอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่าพอได้แล้ว

  • พัฒนาสมอง

เพราะการร้องเพลงและอ่านนิทาน ช่วยให้ลูกพัฒนาด้านภาษาและการสื่อสาร ทั้งด้านความไพเราะของภาษา จังหวะ และสัมผัสคล้องจอง การอ่านนิทานหรือหนังสือ เป็นการช่วยให้ลูกรู้จักคำศัพท์ โครงสร้างประโยค และการเล่าเรื่องใหม่ๆ ทั้งสองกิจกรรมกระตุ้นบริเวณสมองที่สำคัญสำหรับการพัฒนาทางด้านภาษา

  • ทักษะทางปัญญา

ช่วยให้ทารกมีสมาธิและตั้งใจ พวกเขาเรียนรู้ที่จะคาดเดาสิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในเพลงหรือเรื่องราว ซึ่งช่วยเสริมสร้างความจำและทักษะทางปัญญา  

  • สร้างสายสัมพันธ์

การโอบกอด สัมผัส มองตา ในขณะร้องเพลงหรืออ่านหนังสือ สร้างความรู้สึกปลอดภัยและความรัก เสียงและการสัมผัสของคุณพ่อคุณแม่ ให้ความสบายใจและความมั่นคง เสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก

  • ช่วยให้อารมณ์ดีและควบคุมอารมณ์

ท่วงทำนองและจังหวะที่สงบของเพลง สามารถช่วยให้ทารกที่กำลังไม่สบายใจนั้นสงบลง การอ่านนิทานหรือเรื่องราวเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก สามารถช่วยให้พวกเขาเข้าใจและแสดงออกถึงความรู้สึกของตนเอง  

  • จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

เรื่องราวกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของลูก เมื่อเด็กๆ เริ่มสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวกับประสบการณ์ของตัวเองได้ คราวนี้คุณพ่อคุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องอ่านนิทานให้ลูกฟังอีกต่อไป แต่ลูกอาจจะมีเรื่องราวของตัวเอง มาเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังก็ได้เช่นกัน

  • พัฒนาทักษะในการฟัง

การร้องเพลงและอ่านหนังสือช่วยให้ทารกพัฒนาทักษะการฟังมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำคัญต่อการเรียนรู้และการพัฒนาทางด้านการสื่อสาร นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมคลังคำศัพท์ในสมองของลูกอีดด้วย

แหล่งข้อมูล Raisingchildren, healthywa, American Academy of Pediatrics, CDC, CDC, mayoclinic, healthychildren, stanfordchildrens, raisingchildren

เลือกซื้อของเล่นเสริมพัฒนาการ ได้ตามช่องทางด้านล่าง

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *